วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมือใหม่หัดขับที่บางทีมือเก่าอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไป

 ใครๆ ก็ต้องเคยเป็นมือใหม่หัดขับ และบางคนหวาดกลัวในหลายลักษณะการขับ และ หลายคนก็ทำอะไรผิดๆ จนติดเป็นนิสัยเมื่อกลายเป็นมือเก่าขับรถได้ หรือ ขับรถเป็นแตกต่างกัน ! 
 

   1. การนั่งชิดพวงมาลัยและชะโงกมองหน้ารถ 

    ปรับเบาะนั่งจนชิดพนักพิงตั้งชัน นั่งใกล้พวงมาลัยมาก กลัวจับพวงมาลัยไม่ถนัด และกลัวมองไม่เห็นปลายฝากระโปรงหน้า ขาดความมั่นใจถ้าไม่ได้มองหรือนั่งห่างพวงมาลัย 

    ผลเสีย : หมุนพวงมาลัยได้ไม่คล่อง ขาดความฉับไวในการบังคับทิศทาง เพราะข้อศอกอยู่ชิดลำตัวเกินไป และแขนงอ อยู่มาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หากพวงมาลัยมีถุงลมนิรภัยจะเจ็บหนัก เพราะปะทะกับถุงลมฯ ในจังหวะที่แค่เริ่มพองตัว ยังไม่พองตัวเกือบเต็มที่ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโอกาสสูงที่จะกระแทกกับพวงมาลัยแล้วบาดเจ็บหรือตาย แม้คาดเข็มขัดนิรภัย หากเป็นแบบพื้นฐานไม่ใช่ไฮเทคแบบรั้งกลับอัตโนมัติ ก็อาจจะล็อกร่างกายได้ช้า จนกระแทกกับพวงมาลัยไปก่อน

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ปรับระยะห่างของเบาะนั่งและมุมเอนของพนักพิงให้ถูกต้อง ไม่ชิดไม่ห่างไม่เอนไม่ตั้งชันเกินไป การปรับเบาะนั่ง ให้ทดลองเหยียบเบรกด้วยฝ่าเท้า(ไม่ใช่ปลายเท้า)ให้สุด แล้วขาต้องงออยู่เล็กน้อย เพราะถ้าเหยียบสุดแล้วขาตึง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเหยียบเบรกอยู่ แรงกระแทกจะถ่ายทอดจากแป้นเบรกสู่สะโพกได้มาก แต่ถ้าเบรกสุดแล้วขายังงอ แรงกระแทกจะทำให้เข่างอขึ้นไป แรงกระแทกจะถูกส่งสู่สะโพกน้อยกว่า

    พนักพิงเอนมาด้านหลังเล็กน้อย มีมุมเอียงประมาณ 100 องศา ตรวจสอบความเหมาะสมของตำแหน่งได้ง่ายๆ โดยนั่งพิงพนักแล้วยื่นแขนตึงคว่ำมือไปวางเหนือพวงมาลัย วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือ ถ้าลองกำวงพวงมาลัยด้านบนสุด แขนยังต้องงออยู่เล็กน้อย ตำแหน่งการนั่งตามที่แนะนำนี้ จะทำให้การหมุนพวงมาลัยเป็นไปอย่างคล่องตัวและฉับไว ข้อศอกไม่ชิดลำตัว และแขนไม่เหยียดจนเกินไป

2. จับพวงมาลัยไม่ถูกตำแหน่ง 

    จับพวงมาลัยในตำแหน่งที่รู้สึกว่าตนเองถนัด บางครั้งก็จับมือเดียว บางครั้งก็ละมือมาจับต่ำสุดเมื่อขับทางโล่งๆ ทั้งที่ใช้ความเร็วสูงอยู่ 

    ผลเสีย : การบังคับควบคุมในบางช่วงของการขับจะขาดความแม่นยำ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ต้องเลี้ยวหลบอะไรเร็วๆ หรือยางแตก ก็อาจพลาดได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : หาเปรียบเทียบหน้า ปัดนาฬิกากับวงพวงมาลัย มือซ้ายควรอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา และมือขวา 3 นาฬิกาเสมอ ยกเว้นตอนเลี้ยวการจับ 2 มือในตำแหน่งนี้จะทำให้การควบคุมทิศทางเป็นไปอย่างแม่น ยำและฉับไว อย่าชะล่าใจจับพวงมาลัยมือเดียวหรือจับผิดตำแหน่งไปจากนี้ เพราะเหตุกะทันหันเกิดขึ้นได้เสมอบนถนนเมืองไทย แม้แต่เดินทางไกลบนทางตรงโล่ง ก็ควรจับพวงมาลัยทั้ง 2 มือในตำแหน่งนี้ หากเมื่อยก็เอาข้อศอกหุบเข้ามาแนบลำตัว แม้จะไม่เคยพลาดทั้งที่จับพวงมาลัยมือเดียวหรือผิดตำแหน่ง แต่เมื่อไรเกิดเหตุฉุกเฉินควบคุมพวงมาลัยได้ไม่ดีจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วจะนึกถึงการแนะนำนี้

    3. เหยียบเบรกพร้อมคลัตช์ 

    เมื่อไรที่กดเบรกลึกหน่อย หลายคนรีบเหยียบคลัตช์เกือบจะพร้อมกับเบรกเลย อาจจะเพราะกลัวเครื่องยนต์ดับ 

    ผลเสีย : เมื่อเหยียบคลัตช์จนสุดขณะที่รถยังไม่หยุด ก็เท่ากับเป็นเกียร์ว่าง ไม่มีแรงเครื่องยนต์ช่วยหน่วงการเบรก ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีผลเสียร้ายแรงอะไร หากเบรกโดยไม่มีการหน่วงจากเครื่องยนต์ เพราะระบบเบรกของรถยนต์ในปัจจุบันดีเพียงพออยู่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องเหยียบเบรกพร้อมคลัตช์ ประเด็นสำคัญกลับกลายเป็นเรื่องของสมาธิที่ควรจะจดจ่อกับการเบรก แล้วต้องแบ่งไปที่การเหยียบคลัตช์โดยไม่จำเป็น

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : เบรกเมื่อต้องการเบรก ก็ควรจดจ่อกับการเบรกและควบคุมรถ ไม่ต้องเหยียบคลัตช์ไม่ต้องยุ่งกับเกียร์ให้เหยียบคลัตช์เมื่อรถใกล้หยุด เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ดับ หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงเพื่อเร่งต่อหลังเลิกเบรก

4. ลดเกียร์ต่ำช่วยเบรก 

    หรือเรียกกันว่า เชนจ์เกียร์-เชนจ์เกียร์ต่ำ สอนและทำตามกันมาจนกลายเป็นเรื่องถูกต้อง หรือจำเป็นต้องทำไปแล้ว เหยียบเบรกพร้อมกับเหยียบคลัตช์ เปลี่ยนเกียร์ต่ำลงแล้วถอนคลัตช์

    ผลเสีย : เมื่อรอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นสูงหลังลดเกียร์และถอนคลัตช์ เครื่องยนต์และเกียร์จะสึกหรอมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และเสียทั้งสมาธิกับแรงในการเปลี่ยนเกียร์ แทนที่จะไปสนใจกับการเบรกและควบคุมรถ

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ไม่ใช่ว่าการลดเกียร์ต่ำจะไม่ช่วยการเบรกเลย เพราะจริงๆ แล้วช่วยแต่ช่วยน้อยมากบนทางราบ หากไม่เชื่อก็สามารถทดลองได้โดยการลดเกียร์ต่ำโดยไม่เบรก กับกระแทกเบรกแรงๆ อัตราการลดความเร็วจะต่างกันมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำในขณะที่เบรกเอาอยู่
    เบรกเมื่อต้องการเบรก ก็ควรจดจ่อกับการเบรกและควบคุมรถ ไม่ต้องยุ่งกับถ้าจะเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงเพื่อเร่งต่อ ก็ต้องถอนคลัตช์หลังเลิกเบรกแล้ว
    การลดเกียร์ต่ำช่วยเบรกหรือควบคุมความเร็ว จะได้ผลบนทางลาดลงและได้ผลเสริม การเบรกเล็กน้อยเมื่อเบรกเอาไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเบรกกะทันหันอย่างหนักหน่วง ในความเป็นจริงแค่เบรกและคุมพวงมาลัยก็ยุ่งอยู่แล้ว จะลดเกียร์ต่ำโดยไม่เสียสมาธิเสียแรงได้อย่างไร ดังนั้นการเบรกก็ควรใช้เบรกตามหน้าที่ให้เต็มที่ก่อนจะไปวุ่นวายทำอย่างอื่น

5. กลัวหยุดที่ทางขึ้นของสะพานหรือทางชัน 

    ในกรณีของรถเกียร์ธรรมดาที่ต้องหยุดชั่วคราวในลักษณะนั้น และในเมืองใหญ่ที่การจราจรคับคั่ง รถคันที่จอดต่ออยู่ก็มักจะชิดเข้ามามาก บางคนเหยียบเบรกไว้ เมื่อจะไปต่อ ก็ถอนเบรกแล้วรีบกดคันเร่งพร้อมกับถอนคลัตช์

    ผลเสีย : รถอาจกระตุกอย่างแรง ไปชนรถคันข้างหน้า หรือเครื่องยนต์ดับไหลถอยหลังลงไป

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้เบรกมือช่วยดึงเบรกมือไว้ขณะจอด ถ้าจะให้ดีควรเหยียบเบรกควบคู่กันด้วย การออกตัว ให้เหยียบคลัตช์เข้าเกียร์ จับเบรกมือไว้ ค่อยๆ ถอนคลัตช์และเริ่มกดคันเร่ง พอรถเริ่มกระตุก เบาๆ นั่นแสดงว่าคลัตช์เริ่มจับตัว ก็ให้กดคันเร่งเพิ่มเล็กน้อย ปลดเบรกมือพร้อมถอนคลัตช์ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ไม่ใช้เบรกมือ คือเหยียบเบรกไว้ การออกตัวให้เหยียบคลัตช์ เข้าเกียร์ ค่อยๆถอนคลัตช์ พอพอรถเริ่มกระ ตุกเบาๆ แสดงว่าคลัตช์เริ่มจับตัว ก็ให้ละเท้าจากเบรกรีบมากดคันเร่ง พร้อมกับถอนคลัตช์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือค่อยๆ ถอนครัชในขณะที่เท้ายังเหยียบเบรกไว้ ไม่ปล่อยเบรกจนสุด

6. ไม่กล้ากดคันเร่งมิด เมื่อจะเน้นอัตราเร่ง 

    กลัวกินน้ำมัน กลัวเบรกไม่อยู่ กลัวเครื่องยนต์สึกหรอ สารพัดจะกลัว 

    ผลเสีย : อาจเกะกะผู้ร่วมถนนอื่นในขณะนั้น หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพราะไม่เร่งหนี

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ในบางสถานการณ์ในการขับรถ การเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ อาจไม่ใช่การเบรก แต่กลับเป็นการเร่งส่ง การกดคันเร่งจมมิด ไม่มีอะไรเสียหาย การสึกหรอก็เพิ่มจากปกติน้อยมาก ขับรถให้รื่นรมย์ ถ้าอยากได้อัตราเร่งดีๆ ก็ไม่ต้องลังเลที่จะกดคันเร่งหนักๆ

7. เปลี่ยนเลนได้ เข้าทางได้ ไม่เร่งส่ง 

    ขับเอื่อยๆ เพราะถือว่าเข้าสู่เลนที่ต้องการได้แล้ว 

    ผลเสีย : ถ้ารถคันข้างหลังอยู่ใกล้หรือมาเร็ว ก็ถือว่าเสียมารยาทและอาจถูกชนท้ายได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : เมื่อเข้าสู่เลนที่ต้องการได้แล้ว หากทางข้างหน้าว่าง และมีรถตามมา ให้กดคันเร่งเพื่อหนีไปด้านหน้า เพิ่มระยะห่างด้านหลัง

8.  จอดไม่ชิดริมทาง 

    การจอดรถในพื้นที่สั้นๆ ยาวกว่าตัวรถไม่มาก หลายคนจอดห่างริมทางหรือของทางเท้า 

    ผลเสีย : ถ้าห่างมากตำรวจเขียนใบสั่งได้ เกะกะและถูกเฉี่ยวชนจากรถคันอื่น

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ถ้าขณะเข้าจอดเส้นทางโล่งพอสมควร การถอยจอดจะชิดริมได้ง่ายกว่า และต้องการพื้นที่โดยรวมสั้นกว่า การปักหัวรถเข้าไปสู่ช่องว่างจะต้องการพื้นที่ยาวมากกว่า ดังนั้นควรหัดถอยจอดตีวงให้คล่องไม่ต้องยึกยักหลายครั้ง

9.กลัวชนวงนอก ไม่กลัวเฉี่ยววงใน

    ทั้งการขับออกจากซอย แล้วล้อหลังในปีนริมทางเท้า และการเลี้ยวเข้าที่แคบๆ 

    ผลเสีย : อาจมีการเฉี่ยวชนให้ต้องซ่อมสี หรือมีอะไรเสียหาย

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ตีวงออกสู่ด้านนอกโค้งเผื่อให้ด้านในโค้งห่างสักหน่อย หากไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วปลายกันชนด้านนอกโค้งจะเลยไปถึงตรงไหน ให้ทดลองตีโค้งเข้าหาเสาแต่ไม่ให้ชน แล้วลงไปดูเพื่อจำไว้ว่ามองจากในห้องโดยสารแล้วใกล้แค่ไหนถึงจะชิดเสาที่สุด

10.ไม่ค่อยดูกระจกมองข้างหรือกระจกมองหลัง

    เพราะจดจ่อกับการควบคุมรถให้ไปตาม ตามเส้นทางข้างหน้า

    ผลเสีย : อาจเสียมารยาทโดยไม่รู้ตัว ทั้งเกะกะผู้อื่น เปลี่ยนเลนกระชั้นชิด หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง :ไม่ยาก ก็มองกระจกมองข้างหรือกระจกมองหลังให้ถี่ขึ้น เพราะรถคันที่ตามมาอาจขับเร็ว มองแต่ละครั้งห่างกัน 3 วินาที อาจจะเข้ามาชิดแล้วก็ได้ ถ้าความเร็วต่าง กัน 50 กม./ชม. ทุก 1 วินาทีรถคันตามจะชิดเข้ามา 14 เมตร หรือประมาณ 4-5 ช่วงคันรถ

    มือใหม่หรือมือเก่า หากอยากเรียนรู้อยากปรับปรุงวิธีขับรถที่ไม่ถูกต้อง นับเป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ ไม่ว่าจะเคยขับรถมา 2 วัน หรือ 30 ปี 



สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ

ปภ. แนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ (ปภ.)


          กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธีในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ทั้งการจอดรถในช่องจอดรถ จอดรถบนช่องทางเดินรถ จอดรถบนทางลาดชัน เพื่อไม่ให้กีดขวางช่องทางจราจร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การจอดรถไม่ถูกวิธีและในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ดังนี้
          กรณีจอดรถในช่องจอดรถ ควรจอดรถให้อยู่ภายในช่องที่กำหนดไว้  โดยจอดขนานกับเส้นที่กำหนด และกะระยะห่างจากเส้นให้เหมาะสม  เพื่อให้รถอยู่กึ่งกลางของช่องจอดรถ ไม่จอดรถชิดไปด้านใดด้านหนึ่ง  ชิดด้านท้าย หรือล้ำไปด้านหน้ามากเกินไป พร้อมพับกระจกข้าง จะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้รถคันอื่นสามารถขับผ่านหรือเข้าจอดได้สะดวก

          หากจอดรถกีดขวางช่องทางรถคันอื่น ให้ปลดเกียร์ว่าง หรือเลื่อนคันเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง N ไม่ดึงเบรกมือ เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้ แต่หากจอดรถในช่องทางปกติ ควรเลื่อนคันเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง P เพื่อป้องกันรถเลื่อนไปชนรถคันอื่น รวมถึงไม่จอดรถบริเวณหัวมุม ทางโค้ง หรือทางแคบ เพราะมีพื้นที่จำกัด อีกทั้งยังกีดขวางช่องทางจราจร ทำให้ รถคันอื่นขับผ่านไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้

          กรณีจอดรถบนช่องทางเดินรถ ควรจอดรถบริเวณด้านซ้ายของทางเดินรถ โดยให้ด้านซ้ายของรถชิดและขนานกับขอบหรือไหล่ทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร ในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางจราจร ไม่จอดรถในบริเวณที่ห้ามจอด เช่น บนทางเท้า บนสะพาน ในอุโมงค์ บริเวณทางร่วมทางแยก เป็นต้น เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย

          กรณีรถจอดเสียบนทางเดินรถ ควรให้สัญญาณการจอดรถโดยเปิดไฟฉุกเฉิน นำกรวย  ป้ายสะท้อนแสง กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นมาวางให้ห่างจากรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดเสีย จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน โดยจอดให้ชิดริมไหล่ทางในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางการจราจร จากนั้นให้พยายามนำรถออกให้พ้นช่องทางเดินรถโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
          กรณีจอดรถบนทางลาดชัน ควรจอดรถให้ชิดขอบทาง ฟุตบาท หรือกำแพงให้มากที่สุด โดยหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางขอบทาง หากรถเคลื่อนที่จะได้ไม่ไหลไปกีดขวางช่องทางจราจร กรณีเป็นทางลาดชันที่ไม่มีขอบทาง ฟุตบาท หรือกำแพง ควรหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางด้านตรงข้ามกับถนน หากรถเคลื่อนที่จะได้ไม่ไหลไปกีดขวางช่องทางจราจร ที่สำคัญ หลังจากดับเครื่องยนต์และให้ดึงเบรกมือขึ้นจนสุด เลื่อนเกียร์ไปยังตำแหน่งถอยหลังสำหรับรถเกียร์ธรรมดา และตำแหน่ง P สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนตัว รวมถึงนำก้อนหิน ขอนไม้ หรือวัสดุที่แข็งแรงมารองหลังล้อรถ จะช่วยให้จอดรถได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การจอดรถบนทางลาดชัน ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะก่อนออกรถ เพราะล้อยังอยู่ในตำแหน่งเลี้ยวและมีวัตถุรองหลังล้อรถ ควรหมุนพวงมาลัยกลับคืนตำแหน่งให้ล้อตรงและนำวัตถุรองหลังล้อรถออกก่อน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ การเรียนรู้เทคนิคการจอดรถจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559

4 เรื่องควรรู้ ของมือใหม่ หัดขับ

         ทุกวันนี้รถยนต์ที่เยอะขึ้นก็ทำให้การจราจรบนถนนวุ่นวายมากขึ้น ด้วยส่วนหนึ่งคือการมีมือใหม่ที่เยอะมากขึ้นบนถนน ทำให้ คนที่ใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ล้วนแต่เต็มไปด้วยคนที่ไม่ค่อยรู้ หรือขับเป็นแต่ไม่เข้าใจ เพราะจะว่าไปโรงเรียนสอนขับรถที่เกลื่อนเมือง ก็เอาแค่ได้ใบขับขี่แล้วจบกัน ทั้งที่ความจริงการขับรถต้องมีอะไรมากกว่าแค่บัตร 1 ใบที่บอกว่าอนุญาตให้ขับรถได้

                เรื่องที่รู้อยู่แล้ว อย่างกฎจราจรต่างๆ คงไม่จำเป็นที่จำต้องเล่าเป่าความกันให้มากมาย แต่วันนี้ถ้าคุณเพิ่งขับรถลองดูสิว่า เรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คุณขับรถปลอดภัยขึ้นหรือไม่ในการขับขี่ปัจจุบัน



        1.ไฟเลี้ยว  อาจจะไม่มีใครบอกว่าไฟเลี้ยวสำคัญมากแค่ไหน  แต่ความจริงแล้วไฟเลี้ยวถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากและมันช่วยอำนวยความปลอดภัยในการบอกทิศทางที่จะไป และจะช่วยให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้นด้วย ตามหลักแล้วควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงทางเลี้ยว และก่อนทำการเปลี่ยนเส้นทาง (การแซง) อย่างน้อย 50-100 เมตร

          2.ไฟฉุกเฉิน ที่มาของไฟฉุกเฉินคือการที่เราส่งสัญญาณแสดงไฟเลี้ยวทั้งสองข้างพร้อมกันและคำว่าฉุกเฉินก็ย่อมหมายถึงว่ามีเรื่องที่ทำให้รถไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ หรือเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น หลายคนอาจจะเคยถูกสั่งสอนมาว่าให้เปิดไฟฉุกเฉินยามฝนตกด้วย หรือกระทั่งยามข้ามแยกไม่มีสัญญาณไฟ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นแนวคิดที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้ขับขี่เกิดความสับสนและอาจจะนำไปสู่อุบัติเหตุได้ในที่สุด



           3.เบรก..ใช้เมื่อหยุดเท่านั้น   ทุกวันนี้พฤติกรรมแปลกๆบนถนนมีมากมาย และเรื่องหนึ่งที่ดูจะไม่พูดถึงไม่ได้คือการใช้เบรกอย่างไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นเร่องที่ยากที่จะบรรยายเกี่ยวกับการใช้เบรก แต่โดยปกติแล้วเบรกจะถูกใช้ 2 กรณี คือชะลอความเร็วและหยุดรถ แต่ด้วยความเข้าใจในเรื่องการชะลอความเร็วนี่เอง ทำให้มือใหม่หลายคนขับรถ โดยแตะเบรกแทบตลอดเวลาทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้ขับขี่คนอื่น เนื่องจากเวลาเบรกไฟเบรกทางด้านหลังก็จะติดด้วย เช่นเดียวกับการการทำให้เกิดการสึกหรอมากกว่าที่ควรจะเป็นเพียงเพราต้องการรักษาความเร็ว

                ทางแก้ของปัญหานี้คือต้องหัดในการควบคุมคันเร่ง ซึ่งโรงเรียนสอนขับรถส่วนใหญ่ไม่ได้สอนเรื่องนี้มาด้วย แต่หากวันนี้ใครเป็นคนที่ขับรถแล้วติดต้องใช้เบรก ลองเริ่มต้นด้วยการผ่อนคันเร่งก่อน แล้วกลับค่อยๆ เหยียบไปให้น้ำหนักตามความเร็วที่ต้องการดู น่าจะดีกว่า แม้อาจจะไม่ชินในช่วงแรกแต่ท้ายที่สุดเมื่อเข้าใจในการทำงานก็จะรู้ว่าเบรกไม่ใช่ทุกสิ่งที่สามารถชะลอความเร็วได้


  
            4.แตรใช้ได้.. เราส่วนใหญ่ไม่ค่อยบีบแตร กันก็ไม่เข้าใจว่าด้วยเหตุอันใด แต่ความจริงของการใช้รถใน ภาคสากล แตรคือสัญญาณเตือน ไม่ใช่การยกไฟสูงใส่ ซึ่งด้วยนิสัยคนไทยขี้เกรงใจ จึงมักถูกสอนว่า ไม่ให้ใช้แตร ทั้งที่จริงมีเพียงไม่กี่ที่ ที่ห้ามใช้ได้แก่ สถานศึกษา วัด และโรงพยาบาล ส่วนที่อื่นไม่ได้ห้ามอย่างชัดเจน  ดังนั้นหากพบปัญหาที่อาจจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุสิ่งที่ควรทำคือการบีบแตร เพื่อเตือนเพื่อนร่วมทาง 

            ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจจะเรียกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับขี่อย่างปลอดภัยบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา กับมือใหม่หัดขับอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินกันแต่ด้วยประสบการณ์ในการขับขี่มันก็จะสอนให้รู้ว่าการขับรถที่ถูกต้องเป็นเช่นไร 


สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/