วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

40 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการขับรถยนต์ที่คุณควรทราบ

หากคุณไม่อยากเสียค่าซ่อมรถแพง ๆ หรือต้องการพัฒนาทักษะการขับรถ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนวันนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องรถฉบับจัดเต็มมาฝากคุณ ถ้างั้นลองไปดูพร้อม ๆ กันเลยว่าจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง


1. ขจัดสิ่งรบกวน 
          เหมือนกับที่ครูสอนขับรถมักจะบอกย้ำ ๆ อยู่เสมอว่ามือของคุณจะหมุนไปตามทิศทางเดียวกับที่คุณหันไปมอง แค่คุณเปลี่ยนช่องวิทยุก็ใช้เวลา 5.5 วินาทีแล้ว ซึ่งนั่นเป็น 5.5 วินาที ที่คุณได้ละสายตาไปจากถนนและมือทั้งสองของคุณก็ไม่ได้อยู่บนพวงมาลัย แค่กดโทรศัพท์มือถือก็ทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะขับรถชนมากกว่าปกติถึง 3 เท่า หรือเพียงหันไปจับอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหว คุณก็มีความเสี่ยงที่จะขับรถชนมากกว่าปกติ ถึง 9 เท่า ที่ร้ายที่สุดคือ การส่ง SMS ซึ่งทำให้คุณต้องเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติถึง 23 เท่า ทางที่ดีคุณควรลงทุนติดตั้งระบบแฮนด์ฟรีพร้อมบลูทูธไว้ใช้ในรถ และส่ง SMS เฉพาะเวลาที่คุณจอดรถแล้วเท่านั้น

2. สาดโค้งบนทางดิน 
          รีส มิลเลน สตั๊นท์แมนขับรถผาดโผนบอกว่าการสไลด์ไปข้าง ๆ เป็นวิธีทำเวลาที่เร็วที่สุดในการสาดโค้งบนทางดิน เขาแนะนำให้เริ่มต้นสไลด์ผ่านการบังคับพวงมาลัยให้ท้ายปัดออกนอกโค้ง (ที่เรียกว่าโอเวอร์สเตียร์ในการเข้าโค้ง) แล้วหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางตรงกันข้ามกับโค้งเพื่อเบรคไม่ให้ท้ายปัด หลังจากนั้นให้หักกลับมาในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อสไลด์ไปในทิศทางที่คุณจะไป พอรถเริ่มสไลด์ก็ควบคุมโดยการเหยียบคันเร่งเพิ่มหรือผ่อนคันเร่ง การเหยียบคันเร่งมากหรือน้อยช่วยควบคุมมุมที่เข้าโค้งให้กว้างหรือแคบ ยิ่งเร่งมากจะยิ่งทำให้รถสาดไปข้าง ๆ มากขึ้น ถ้าคุณผ่อนเท้าออกจากคันเร่ง รถก็ยังสาดไปอยู่ตามแรงต้น แต่ความเร็วจะเริ่มลดลงและเข้าสู่ทางตรงอีกครั้ง ควรทดลองสาดโค้งแบบนี้บนทางที่มีดินเยอะ ๆ และไม่มีต้นไม้

3. มีสมาธิ 
          ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Human Perception and Performance ระบุว่า การจ้องมองถนนทางตรงเป็นเวลานานกว่า 5 นาที ทำให้สมองของคุณล้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณขับรถเร็วและประมาทในการกะระยะระหว่างรถคุณและคันหน้า ให้คุณคอยดูกระจกมองหลังทั้งกระจกตรงกลางซ้ายและขวา รวมทั้งหน้าปัดความเร็วทุกครั้งที่เพลงจบวิธีนี้จะช่วยให้สายตาและสมองทำงานได้ว่องไวขึ้น

4. ข้ามน้ำหรือลำธาร 
          อย่าขับรถลุยลงไปในน้ำหากน้ำสูงกว่ากระจังหน้ารถซึ่งเป็นบริเวณที่มีการดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาในเครื่องยนต์ ให้ขับรถลงน้ำตรงจุดที่กระแสน้ำดูไม่แรงเกินไปโดยขับทแยงลงไปเพื่อให้มีพื้นผิวที่จะต้องปะทะกับกระแสน้ำน้อยที่สุด ค่อย ๆ ขับลงไปในน้ำโดยเร่งความเร็วพอสมควร ความเร็วที่พอเหมาะจะทำให้เกิดระลอกคลื่นซึ่งช่วยผลักดันน้ำออกไป น้ำในบริเวณหน้ารถจึงตื้นขึ้น จากนั้นให้คอยควบคุมความเร็วรถให้สม่ำเสมอ

5. ลดระดับเบาะที่นั่ง 
          เวลานั่งขับรถอยู่บนเบาะที่ปรับให้สูง จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนขับรถช้ากว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ผู้ขับขี่รถเอสยูวีซึ่งเป็นรถที่มีความเสี่ยงที่จะหมุนได้ง่ายอยู่แล้ว จึงมักขับรถเร็วกว่าคนที่ขับรถประเภทอื่น เพราะเข้าใจว่ารถตัวเองกำลังคลานไปช้า ๆ ดังนั้นเจ้าของรถเอสยูวี ควรจะปรับเบาะที่นั่งให้ต่ำลงเพื่อที่จะได้รับรู้ความเร็วที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่อย่าปรับลดระดับเบาะที่นั่งลงมาจนต่ำสุด ๆ เหมือนนักขับรถซิ่งทั้งหลายที่ชอบหมุนรถโชว์ก็แล้วกัน อย่าลืมนะว่าคุณไม่ได้เป็นหนุ่มนักซิ่ง

 6. เพิ่มแรงม้า 
          หากคุณเป็นเจ้าของรถที่มีเทอร์โบมาพร้อม คุณคงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า การปรับแต่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มแรงม้า ไม่ว่าคุณจะขับรถเบนท์ลีย์ทวินเทอร์โบ หรือโฟล์คสวาเกนเครื่องยนต์ดีเซล 1.8 ลิตร ที่แสนจะธรรมดา ลองเสียเวลาแค่ไม่กี่นาทีให้ช่างปรับตั้งกล่องควบคุม รถคุณก็จะมีแรงม้าเพิ่มขึ้นได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

7. คืนชีวิตให้กับแบตเตอรี่
          ถ้าสตาร์ทรถไม่ติดเพราะขั้วแบตเตอรี่เต็มไปด้วยตะกรันสนิม เพียงเปิดกกระป๋องโค้ก แล้วราดลงไปบนขั้วแบตเตอรี่ กรดในน้ำโค้กจะช่วยชะล้างตะกรัน ทำให้สามารถต่อและส่งกระแสไฟในการจั๊มป์สตาร์ทได้สำเร็จ เมื่อคุณกลับถึงบ้านให้เอาน้ำฉีดที่ขั้วแบตเตอรี่เพื่อล้างคราบน้ำโค้กที่ติดอยู่ แล้วใช้ผ้าเช็ดน้ำให้แห้ง

8. งดของหวาน 
          ถ้าคุณไม่อยากเผชิญหน้ากับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งทำให้รู้สึกง่วงเวลาที่ขับรถ โมนีค ไรอันนักโภชนาการ ผู้แต่งหนังสือ Sport Nutrition for Endurance Athletes แนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างลูกแพร์หรือแอปเปิล และดื่มน้ำเปล่า

9. หาแผ่นรองหลังมาหนุน 
          ถ้าพนักพิงหลังในรถคุณไม่สามารถปรับความแข็ง-อ่อนได้ ให้ซื้อแผ่นรองหลังมาเสริมหรือจะให้ง่ายกว่านั้นก็แค่ม้วนผ้าเช็ดตัวและนำมาหนุนตรงที่มีช่องว่างระหว่างบั้นเอวกับเบาะก็โอเคแล้ว ยิ่งคุณประคองกระดูกสันหลังได้มากเท่าไรโอกาสที่จะปวดหลังยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น



10. กำจัดของที่ไม่จำเป็นลงจากรถ 
          เมื่อลดน้ำหนักบรรทุกของลงได้ทุก ๆ 50 กิโลกรัม รถคุณจะประหยัดน้ำมันลงไป 1-2 เปอร์เซ็นต์ให้เคลียร์ของในที่กระโปรงท้ายและเบาะหลังก่อนที่จะออกจากบ้าน และถ้ารถคุณมีตะแกรงบรรทุกสัมภาระบนหลังคาแต่ไม่ใช้ก็แค่ถอดออกซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำมันลงได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

11. เคลียร์กระเป๋ากางเกง 
          โดยเฉลี่ยผู้ชายใช้เวลาขับรถวันละ 67 นาที ดังนั้นการที่คุณยัดกระเป๋าตังค์บวม ๆ ไว้ในกระเป๋ากางเกงที่อยู่ข้างหลังจะทำให้สะโพกสองข้างหนาไม่เท่ากัน เวลานั่งบนเบาะกระดูกสันหลังก็เลยคดและส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนัก นอกจากนี้สจ็วร์ต แมคกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ออนแทรีโอ บอกว่า การใส่ของหนา ๆ เข้าไปในกระเป๋ากางเกงยังเป็นการเพิ่มแรงกดลงบนเส้นประสาทบริเวณกระดูกสะโพกซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง

12. คาดเข็มขัดนิรภัย 
          ผู้ชาย 1 ใน 5 คนเข้าใจว่าเมื่อรถมีถุงลมนิรภัยแล้วก็ไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้ง ๆ ที่ความจริงการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจทำให้ถุงลมนิรภัยกลายเป็นเพชฌฆาตที่คร่าชีวิตคนได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กได้วิจัยข้อมูลย้อนหลัง 12 ปีจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่ถุงลมนิรภัยทำงาน พบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีโอกาสบาดเจ็บที่คอและกระดูกสันหลังมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ที่คาดเข็มขัดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทีมนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าถ้าคุณไม่คาดเข็มขัดขณะที่รถชน หัวของคุณจะพุ่งไปอัดกับถุงลมนิรภัยซึ่งถูกดันออกมาด้วยความเร็ว 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

13. ปรับแอร์ให้เป็นแบบหมุนเวียน
          การปิดแอร์ช่วยประหยัดน้ำมันเฉพาะเวลาที่คุณขับรถในเมือง แต่ถ้าคุณต้องขับรถบนไฮเวย์ การเปิดหน้าต่างขับรถยิ่งทำให้รถวิ่งได้ช้า ซึ่งส่งผลให้รถคุณยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น ทางที่ดีคุณควรปรับระบบแอร์ให้เป็นแบบหมุนเวียนโดยใช้อากาศเย็นที่ได้รับการปรับอุณหภูมิแล้วภายในห้องโดยสาร วิธีนี้ช่วยประหยัดพลังงานลงได้มากกว่าเพราะแอร์ไม่ต้องทำงานหนักในการปรับอากาศร้อนจากภายนอกตลอดเวลา

 14. ประหยัดคลัทช์ 
          อย่าเหยียบคลัทช์ค้างไว้นานก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์ คุณจะเร่งสปีดรถได้ดีกว่าและถนอมรักษาคลัทช์ไว้ให้มีอายุใช้งานได้นาน หากคุณรู้จักใช้คลัทช์อย่างประหยัด

15. ใช้พนักพิงศีรษะ 
          ก่อนที่จะออกรถให้คุณนั่งหลังตรงแล้วยืดศีรษะขึ้นให้สูงที่สุดพร้อม ๆ กับดันศีรษะไปที่พนักพิง ทำท่านี้ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นค่อยผ่อนคลายลง ทำซ้ำทั้งหมด 5 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยปรับท่านั่งขับรถของคุณให้ถูกต้องขึ้น และช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อหลังให้ทำงานและปรับกระดูกสันหลังให้ตรงคุณจึงไม่เมื่อยคอขณะขับรถ

16. แต่งรถให้สวย 
          ถ้าคุณอยากแต่งรถใหม่ให้ดูไม่เวอร์ควรเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนล้อแม็กซ์ นอกจากค่าใช้จ่ายจะไม่สูงแล้วยังรวดเร็วอีกด้วย แถมคุณก็ไม่ต้องเอารถไปทิ้งไว้ให้ทำนานเป็นอาทิตย์ ถ้ารถของคุณเป็นรุ่นหรูอยู่แล้ว คุณอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแม็กซ์ด้วยซ้ำ ลองเปลี่ยนสีล้อด้วยการทำสีพาวเดอร์โค้ดแค่นี้ก็ดูดีแล้ว

          ซื้อรถอย่างไรให้คุ้มค่า

17. ถามหารถทดลองขับ
          หากต้องการซื้อรถมือสอง รถตัวอย่างที่โชว์รูมใช้สำหรับให้ลูกค้าทดลองขับก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะรถพวกนี้จะไม่ได้ถูกใช้งานไปมากนักก่อนที่จะขาย และยังมีการเก็บข้อมูลอย่างดีเนื่องจากโชว์รูมจะต้องขายรถพวกนี้ออกไปเมื่อครบกำหนดเวลาหรือระยะการใช้งาน รถมือสองที่วิ่งน้อยและมีบันทึกการใช้งานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุ้มค่า

 18. เตรียมตัวให้พร้อม 
          ก่อนที่จะไปโชว์รูมขายรถ อย่าลืมทำการบ้านเรื่องเงื่อนไขการผ่อนชำระและเช็คเครดิตของคุณไปให้พร้อมก่อน และอย่าเลือกผ่อนชำระนานกว่าระยะเวลาที่คุณตั้งใจจะใช้รถคันนั้น โดยทั่วไปหากยอดผ่อนรายเดือนที่คุณจ่ายไหวทำให้คุณต้องผ่อนเกิน 4 ปี แปลว่ารถคันนั้นราคาสูงเกินไปสำหรับคุณ

19. เลือกเวลาที่เหมาะสม 
          พนักงานขายส่วนมากจะวุ่นอยู่กับการทำยอดขายให้ได้ตามแผนในช่วงปลายเดือน นั่นคือเวลาที่คุณควรจะไปซื้อรถ ยิ่งคุณไปถึงโชว์รูมแต่เช้าก็ยิ่งจะได้รับบริการเป็นอย่างดี เพราะพนักงานขายมักใส่ใจกับลูกค้ารายแรก ๆ ที่เข้ามาในโชว์รูม

20. ทดลองขับรถเป็นสิ่งสุดท้าย 
          การทดลองขับรถเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกซื้อรถ คุณควรลองขับรถหลังจากต่อรองทุกสิ่งอย่างจนพอใจเรียบร้อยแล้ว พนักงานขายมักจะคะยั้นคะยอให้คุณทดลองขับรถให้เร็วที่สุด เพราะเมื่อขับรถแล้วถูกใจ ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่คุณจะตัดสินใจซื้อรถ

 21. เลือกรถในสต็อค 
          ตัวแทนจำหน่ายรถบางรายได้เครดิตในการนำรถมาเก็บไว้ในสต็อคเพื่อขาย ถ้าอยากได้ข้อเสนอดี ๆ ลองเลือกดูรถที่อยู่ในสต็อค โดยเฉพาะรถที่เก็บมานานกว่า 3 เดือน เพราะตัวแทนจำหน่ายอยากจะขายรถพวกนี้ออกไปก่อนเพื่อนำเงินไปจ่ายให้แก่บริษัทแม่

22. รู้จักต่อรอง 
          ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถที่โชว์รูมไหน คุณควรเช็คราคารถหลาย ๆ แห่ง เพื่อข้อเสนอที่ดีที่สุด เมื่อเลือกโชว์รูมได้แล้ว อย่าเพิ่งรีบตกลงปลงใจ เพราะคุณยังสามารถต่อรองขอส่วนลดเพิ่มหรือของแถมจากพนักงานขายได้อีก ให้ต่อรองจนกว่าคุณจะได้ข้อเสนอที่พอใจ

 23. ระวังของลดราคา 
          โปรโมชั่นประเภท "ซื้อตอนนี้รับส่วนลดทันที 20,000 บาท" อาจฟังดูน่าสนใจ แต่คุณต้องชอบรถคันนั้นจริง ๆ (เพราะเมื่อซื้อมาแล้วคุณจะต้องใช้รถคันนี้ต่อไปอีกหลายปี) รถที่มีราคาถูกมาก ๆ ตั้งแต่ตอนซื้อ จะราคาตกลงไปมากเวลาที่คุณขาย ส่วนพวกรถตกรุ่นที่จะไม่มีการผลิตแล้วก็ยิ่งไม่น่าซื้อ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นรถคลาสสิก

 24. เช็คข้อมูลในเน็ต 
          ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถให้หาข้อมูลเพิ่มเติมในเน็ต รวมทั้งลองดูความเห็นของคนที่ซื้อรถรุ่นนั้นไปแล้ว หนึ่งในเว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมคือ pantip.com

25. เอาตัวรอดเวลารถตกน้ำ 
          สมัยนี้รถยนต์ส่วนใหญ่จะใช้กระจกไฟฟ้า ถ้าหากรถตกน้ำไฟฟ้าจะช็อตและเปิดกระจกไม่ได้ ให้ลงทุนซื้ออุปกรณ์อย่างค้อนหรือไขควงปากแบนขนาดใหญ่เก็บไว้ตามที่ใส่ของในรถ ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุรถตกลงไปในน้ำจะได้มีอุปกรณ์ทุ่นแรงไว้ทุบกระจกให้แตก

26. เตรียมยาหรือขนมแก้เมารถ 
          สำหรับคนที่ชอบเมารถ ให้ลองกินคุกกี้รสขิง (หากไม่มียาแก้เมารถ) เพราะการปล่อยให้ท้องว่างจะทำให้เมารถมากขึ้น และงานวิจัยพบว่าขิงช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเมารถได้

27. ดูแลใบปัดน้ำฝน 
          ปกติใบปัดน้ำฝนจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ได้รับการดูแล ทั้ง ๆ ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดขึ้นเวลาฝนตก สมาคมรถยนต์อธิบายว่าใบปัดที่ดีจะต้องมีเฉพาะส่วนขอบของใบแนบอยู่กับกระจกหน้ารถ ถ้าหากเวลาคุณปัดน้ำฝนแล้วได้ยินเสียงดังหรือเห็นว่ามีการสะดุด ควรไปให้ศูนย์บริการปรับตั้งหรือเปลี่ยนใบปัดให้ใหม่จะดีกว่า

28. มองถนนให้ไกล 
          อีกหนึ่งพฤติกรรมการขับรถที่ไม่ดีคือการจ้องมองพื้นถนนข้างหน้ารถหรือท้ายรถคันหน้า ทางที่ดีคุณควรฝึกมองไปข้างหน้าไกล ๆ อย่างเช่น ขณะที่เข้าโค้งก็ให้มองจุดออกจากโค้ง การมองแบบนี้ อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนจะหลุดออกไปนอกถนน แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะการมองเห็นทั้งโค้ง จะช่วยให้คุณเข้าโค้งตามไลน์ได้ถูกต้อง

29. เช็คลมยาง คริส โจแฮนสัน 
          ผู้แต่งหนังสือ Auto Diagnosis, Service and Repair บอกว่า "เมื่อลมยางต่ำกว่าปกติ ยางจะสัมผัสและเกิดแรงเสียดทานกับพื้นถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ยางสึกเร็วกว่าที่ควร อีกทั้งยังทำให้เครื่องยนต์ทำงานหนักและสิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้น" ในทางตรงกันข้ามการเติมลมยางเกินกว่าที่กำหนดจะทำให้ยางแข็งและไม่ยืดเกาะถนน ควรตรวจสอบคู่มือการใช้รถของคุณและเติมลมยางให้ถูกต้อง



30. อย่าขับจี้ท้ายคันหน้า 
          ทอม แวนเดอร์บิลต์ ผู้แต่งหนังสือขายดี ชื่อ Traffic บอกว่า การขับจี้ท้ายรถคันหน้าทำให้รถติด แวนเดอร์บิลต์อธิบายว่า คนขับรถจะต้องเหยียบเบรคบ่อยเกินเหตุเวลาขับจี้ท้าย ดังนั้นรถคันหลังที่ขับตามมาก็จะต้องเหยียบเบรคตามไปด้วย ทุกคนเลยขับรถกระตุกแบบเหยียบเบรคแล้วก็ปล่อยตามกันไปเป็นแถว

31.ถอยรถจอดขนานอย่างโปร 
          คนที่ถอยรถจอดขนานไม่เก่งควรอ่านคำแนะนำนี้ ล้อแม็กซ์ราคาแพงจะได้ไม่ต้องเป็นรอยเพราะเบียดกับขอบฟุตปาธ ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์เตือนเวลาถอยหรืออุปกรณ์ไม่ทำงาน ให้คุณปรับมุมกระจกมองข้าง ด้านคนนั่งเอียงลงให้เห็นขอบฟุตปาธและรถด้านข้าง เพื่อที่จะได้เห็นล้อและขอบฟุตปาธเวลาถอยจอดขนาน พอจอดเรียบร้อยก็ปรับกระจกมองข้างกลับมาไว้ที่มุมมองปกติ สำหรับรถรุ่นใหม่บางรุ่นจะมีกระจกมองข้างที่ปรับอัตโนมัติเวลาถอยจอดที่เรียกว่า "อินเดกซิ่ง" (Indexing)

32. เมาไม่ขับ 
          เวลาที่คุณจะไปท่องราตรีกับเพื่อนหรือแฟนให้คุณทิ้งรถไว้ที่บ้านแล้วนั่งแท็กซี่แทนดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสี่ยงถูกตำรวจจับข้อหาเมาแล้วขับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุด้วย

33. เร็วกว่าย่อมได้เปรียบ 
          การเหยียบคลัทช์ค้างไว้ก่อนขณะที่เข้าเกียร์ช่วยให้รถวิ่งไปอย่างนุ่มนวลไม่สะดุด แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความร้อนจนรถอืด ดังนั้นอย่ามัวรอช้ารีบสับเกียร์แล้วถอนเท้าออกจากคลัทช์ให้เร็วที่สุด

          สอนลูกอย่างไรให้ขับรถเป็น

34. หาพื้นที่โล่ง ๆ ให้ฝึกขับ
          เด็กที่หัดขับรถใหม่ ๆ จะตกใจง่าย และทำอะไรไม่ถูกเมื่อรถพุ่งเข้าไปหาสิ่งกีดวางต่าง ๆ อย่างเช่น แผงกั้นตามที่จอดรถ ดังนั้นเวลาพาลูกไปหัดขับรถให้หาพื้นที่โล่ง ๆ สอนให้เขาหันไปดูตามทิศทางที่เขาจะเลี้ยว แล้วค่อยหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นคุณต้องคอยฝึกลูกให้ขับรถไม่ให้ส่ายไปมาด้วย

35. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก 
          วัยรุ่นที่ขับรถไม่ดีมักจะมีพ่อแม่ที่ขับรถไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้นการขับรถของคุณจะเป็นแบบอย่างให้กับลูกของคุณ อย่าขี้โมโห ให้ใจเย็น ๆ เวลาขับรถ ลูกคุณจะได้ขับรถอย่างใจเย็นเหมือนคุณ

36. อธิบายให้ลูกเห็นภาพ 
          ควรอธิบายให้ลูกนึกภาพออก แทนที่จะไปนั่งอธิบายตัวเลขหรือทฤษฎี ตัวอย่างเช่น แทนที่คุณจะบอกว่า "ต้องใช้ระยะเพิ่มจากปกติอีก 25 เมตร เพื่อหยุดรถที่วิ่งมาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะทุก ๆ วินาที ที่เบรคทำงานช้าจะต้องการระยะทางเพิ่มขึ้น" ลองบอกลูกว่า "หากรถวิ่งมาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องใช้ระยะทาง 85 เมตรในการเบรค ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่าความยาวของสนามรักบี้อยู่แค่ 15 เมตร"

       หากไม่มั่นใจใจความปลอดภัยในการสอนสอนขับรถให้กับลูกให้ติดต่อโรงเรียนสอนขับรถเพื่อสอนให้ครูผู้มีประสบการณ์การสอน สอนโดยตรงเลยค่ะ

37. อย่าใช้นิ้วเท้าเหยียบคันเร่ง 
          บางคนชอบใช้นิ้วเท้าเหยียบคันเร่ง ซึ่งทำให้ควบคุมความเร็วได้ไม่สม่ำเสมอและเปลืองน้ำมันเวลาขับ ควรสอนให้ลูกใช้ฝ่าเท้าเหยียบคันเร่งซึ่งจะทำให้ออกแรงได้สม่ำเสมอ และควบคุมความเร็วได้ดีกว่า

38. สิ่งที่รบกวนสมาธิ 
          ควรอธิบายให้ลูกคุณเข้าใจถึงสิ่งที่จะรบกวนสมาธิเวลาขับรถ ไม่ว่าจะคุยโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งฟังเพลงที่ดังเกินไป และแย่ที่สุดคือการรับหรือส่ง SMS จากการศึกษาของสถาบันขนส่งเวอร์จิเนียเทคพบว่า คนที่ส่งข้อความขณะขับรถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนขับรถปกติถึง 23 เท่า

39. ใช้ไฟตัดหมอก 
          เรย์ ไทสัน อดีตโฆษณาของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยในการจราจรของแอฟริกาใต้ บอกว่าไฟตัดหมอกสามารถส่องผ่านไอน้ำได้ดีกว่าไฟหน้ารถปกติ และโดยปกติไฟตัดหมอกจะถูกติดตั้งไว้ด้านล่างของกันชนหน้าเพื่อป้องกันแสงสะท้อน ในขณะที่ไฟสูงจะทำให้จ้าและมองไม่เห็นผ่านสายหมอก คุณควรแนะนำให้ลูกใช้ไฟตัดหมอกแทนการส่องไฟสูงเมื่อมีหมอกลงจัด

40. รีบนำรถไปซ่อมหากกระจกมีรอยร้าว 
          ถ้าหากกระจกร้าวเพราะถูกหินกระเด็นใส่ คุณควรบอกให้ลูกรีบนำรถไปซ่อม เพราะรอยร้าวที่มีขนาดเล็ก ร้านกระจกมาตรฐานจะสามารถซ่อมได้ แต่หากทิ้งไว้แล้วเกิดรอยร้าวเพิ่มอาจทำให้ต้องเปลี่ยนกระจกใหม่ทั้งบาน



สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พฤติกรรมที่ไม่ควรทำในการใช้รถใช้ถนน

มีน้ำใจ มีวินัยในการใช้รถใช้ถนน ย่อมส่งผลให้ลดอุบัติเหตุได้ค่ะ


          1. การขับรถช้าจนเกินไปและมักจะวิ่งอยู่บนช่องจราจรด้านขวามือตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ช่องทางจราจรด้านซ้ายของถนนไม่ได้ชำรุดหรือเสียหายแต่อย่างใด การกระทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้การจราจรติดขัดแล้วยังอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะกฎจราจรของบ้านเรารถทุกคันจะต้องวิ่งบนช่องทางจราจรด้านซ้ายและจะต้องแซงทางขวามือเท่านั้น การที่ท่านไปวิ่งอยู่ด้านขวามือตลอดเวลาคนที่ขับตามมาและต้องการจะแซงก็ไม่แน่ใจว่าจะแซงทางไหนดี

          2. การขับรถออกจากไฟแดงที่ช้ามาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงคนอื่นที่อยู่ด้านหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสี่แยกไฟแดงที่รถติดยาวเหยียด ฉะนั้นเมื่อติดไฟแดงและท่านอยู่ด้านหน้าของผู้อื่น จะต้องคอยสังเกตสัญญาณไฟให้ดี เมื่อไฟเขียวให้ไปได้ท่านควรรีบเหยีบคันเร่งออกไปให้เร็วพอสมควร เพื่อให้คนที่อยู่ด้านหลังจะได้ผ่านไปได้หลาย ๆ คัน ต้องเห็นใจผู้อื่น ๆ ที่อยู่ข้างเรา เขาอาจจะมีธุระจำเป็นที่ต้องรีบไป

          3. การเปิดไฟหน้ารถยนต์มากกว่า 2 ดวงและสว่างจ้าจนเกินไป โดยปกติแล้วไฟหน้ารถยนต์ทั่วไปจะมีเพียง 2 ดวงซ้ายและขวา ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ออกแบบไฟหน้าให้มีความสว่างที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้รบกวนสายตาผู้อื่นที่ขับสวนทางมา แต่ทว่ามีหลายคนนิยมไปติดไฟด้านหน้าเพิ่มเป็น 4 ดวงหรือบางทีเป็น 6 ดวงและเปิดมันหมดทุกดวง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่นที่ขับรถวิ่งสวนทางมา แม้กระทั่งจะวิ่งอยู่ในเขตตัวเมืองซึ่งมีไฟส่องสว่างอย่างเพียงพอก็ตาม การกระทำเช่นนี้น่าจะผิดกฎหมายด้วย แต่ไม่เห็นมีตำรวจจราจรหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดออกมาควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทั่วไปแล้วเราจะเปิดไฟตัดหมอกหรือเปิดไฟดวงอื่น ๆ เพิ่มเพื่อให้สว่างในที่ที่มีหมอกลงจัดหรือในเส้นทางที่เปลี่ยวเท่านั้น แต่ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ของเด็กวัยรุ่นที่วิ่งอยู่ในตัวเมือง

          4. การเปิดไฟสูงตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงรถที่ี่กำลังวิ่งสวนทางมาหรือบางคนเปิดไฟสูงตามหลังคันอื่นก็ทำให้แสงไฟแยงตาผู้อื่นได้เช่นกัน โปรดเห็นใจคนอื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันกับเรา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อคนอื่นเปิดไฟสูงสวนทางมาแสงไฟย่อมแยงตาเราฉันใด หากเราเปิดไฟสูงแล้วขับสวนทางไปแสงไฟรถของเราก็ย่อมจะไปแยงตาของผู้ที่ขับสวนมาฉันนั้น

          5. การเปลี่ยนหลอดไฟท้ายให้สว่างจ้าจนจนเกินไป ทำให้แสงไฟแยงตาและรบกวนสายตาของผู้ที่ขับตามมาด้านหลัง โดยปกติแล้วไฟท้ายของรถยนต์หรือจักยานยนต์ที่ติดตั้งมาจากโรงงานผลิต จะมีความสว่างพอเหมาะ ไม่แสว่างจ้าหรือมีสีที่รบกวนสายตาของผู้ที่ขับตามมาด้านหลังจนเกินไป แต่มีผู้ใช้รถบางคนไปเปลี่ยนหลอดไฟท้ายให้มีความสว่างมากกว่าปกติ บางทีก็เป็นหลอดสีที่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่สายตาเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายจราจรเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรควรกวดขันในเรื่องนี้ด้วย

           6. การกระพริบไฟสูงใส่หน้ารถที่กำลังแซงสวนมา เมื่อมีรถยนต์วิ่งแซงรถคันอื่นที่กำลังวิ่งสวนทางมา ท่านควรหลีกทางให้จะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ไม่ควรกระพริบไฟหน้าสวนออกไป โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

           7. การเปิดไฟเลี้ยวในระยะกระชั้น หากท่านต้องการจะเลี้ยวหรือจะจอดรถข้างทาง ควรเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าพอสมควร ไม่ใช่จะไปถึงทางแยกแล้วหรือจะหยุดแล้วจึงเปิดไฟเลี้ยว อาจจะทำให้ผู้ที่ขับตามมาไม่ทันระวังตัว ซึ่งจะเกิดอุบัติเหตุได้

            เมื่อท่านต้องใช้รถใช้ถนน จงมีน้ำใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน อย่าหงุดหงิดหรือโมโหง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา บางคนอาจจะขับรถเร็วเพราะมีความจำเป็นที่จะต้องไปให้ทันเวลา บางครั้งอาจจะแซงตัดหน้าท่านบ้างก็จงให้อภัย หากไปโมโหตอบแล้วก็ขับรถไปแซงปาดหน้าเอาคืน ในที่สุดก็ต้องทะเลาะกันเสียเปล่า ดังที่เห็นในพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อย ๆ ว่า เพียงแค่ขับรถปาดหน้าหรือแซงกันไปมาก็ฆ่ากันได้


สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมือใหม่หัดขับที่บางทีมือเก่าอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไป

 ใครๆ ก็ต้องเคยเป็นมือใหม่หัดขับ และบางคนหวาดกลัวในหลายลักษณะการขับ และ หลายคนก็ทำอะไรผิดๆ จนติดเป็นนิสัยเมื่อกลายเป็นมือเก่าขับรถได้ หรือ ขับรถเป็นแตกต่างกัน ! 
 

   1. การนั่งชิดพวงมาลัยและชะโงกมองหน้ารถ 

    ปรับเบาะนั่งจนชิดพนักพิงตั้งชัน นั่งใกล้พวงมาลัยมาก กลัวจับพวงมาลัยไม่ถนัด และกลัวมองไม่เห็นปลายฝากระโปรงหน้า ขาดความมั่นใจถ้าไม่ได้มองหรือนั่งห่างพวงมาลัย 

    ผลเสีย : หมุนพวงมาลัยได้ไม่คล่อง ขาดความฉับไวในการบังคับทิศทาง เพราะข้อศอกอยู่ชิดลำตัวเกินไป และแขนงอ อยู่มาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หากพวงมาลัยมีถุงลมนิรภัยจะเจ็บหนัก เพราะปะทะกับถุงลมฯ ในจังหวะที่แค่เริ่มพองตัว ยังไม่พองตัวเกือบเต็มที่ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโอกาสสูงที่จะกระแทกกับพวงมาลัยแล้วบาดเจ็บหรือตาย แม้คาดเข็มขัดนิรภัย หากเป็นแบบพื้นฐานไม่ใช่ไฮเทคแบบรั้งกลับอัตโนมัติ ก็อาจจะล็อกร่างกายได้ช้า จนกระแทกกับพวงมาลัยไปก่อน

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ปรับระยะห่างของเบาะนั่งและมุมเอนของพนักพิงให้ถูกต้อง ไม่ชิดไม่ห่างไม่เอนไม่ตั้งชันเกินไป การปรับเบาะนั่ง ให้ทดลองเหยียบเบรกด้วยฝ่าเท้า(ไม่ใช่ปลายเท้า)ให้สุด แล้วขาต้องงออยู่เล็กน้อย เพราะถ้าเหยียบสุดแล้วขาตึง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเหยียบเบรกอยู่ แรงกระแทกจะถ่ายทอดจากแป้นเบรกสู่สะโพกได้มาก แต่ถ้าเบรกสุดแล้วขายังงอ แรงกระแทกจะทำให้เข่างอขึ้นไป แรงกระแทกจะถูกส่งสู่สะโพกน้อยกว่า

    พนักพิงเอนมาด้านหลังเล็กน้อย มีมุมเอียงประมาณ 100 องศา ตรวจสอบความเหมาะสมของตำแหน่งได้ง่ายๆ โดยนั่งพิงพนักแล้วยื่นแขนตึงคว่ำมือไปวางเหนือพวงมาลัย วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือ ถ้าลองกำวงพวงมาลัยด้านบนสุด แขนยังต้องงออยู่เล็กน้อย ตำแหน่งการนั่งตามที่แนะนำนี้ จะทำให้การหมุนพวงมาลัยเป็นไปอย่างคล่องตัวและฉับไว ข้อศอกไม่ชิดลำตัว และแขนไม่เหยียดจนเกินไป

2. จับพวงมาลัยไม่ถูกตำแหน่ง 

    จับพวงมาลัยในตำแหน่งที่รู้สึกว่าตนเองถนัด บางครั้งก็จับมือเดียว บางครั้งก็ละมือมาจับต่ำสุดเมื่อขับทางโล่งๆ ทั้งที่ใช้ความเร็วสูงอยู่ 

    ผลเสีย : การบังคับควบคุมในบางช่วงของการขับจะขาดความแม่นยำ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ต้องเลี้ยวหลบอะไรเร็วๆ หรือยางแตก ก็อาจพลาดได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : หาเปรียบเทียบหน้า ปัดนาฬิกากับวงพวงมาลัย มือซ้ายควรอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา และมือขวา 3 นาฬิกาเสมอ ยกเว้นตอนเลี้ยวการจับ 2 มือในตำแหน่งนี้จะทำให้การควบคุมทิศทางเป็นไปอย่างแม่น ยำและฉับไว อย่าชะล่าใจจับพวงมาลัยมือเดียวหรือจับผิดตำแหน่งไปจากนี้ เพราะเหตุกะทันหันเกิดขึ้นได้เสมอบนถนนเมืองไทย แม้แต่เดินทางไกลบนทางตรงโล่ง ก็ควรจับพวงมาลัยทั้ง 2 มือในตำแหน่งนี้ หากเมื่อยก็เอาข้อศอกหุบเข้ามาแนบลำตัว แม้จะไม่เคยพลาดทั้งที่จับพวงมาลัยมือเดียวหรือผิดตำแหน่ง แต่เมื่อไรเกิดเหตุฉุกเฉินควบคุมพวงมาลัยได้ไม่ดีจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วจะนึกถึงการแนะนำนี้

    3. เหยียบเบรกพร้อมคลัตช์ 

    เมื่อไรที่กดเบรกลึกหน่อย หลายคนรีบเหยียบคลัตช์เกือบจะพร้อมกับเบรกเลย อาจจะเพราะกลัวเครื่องยนต์ดับ 

    ผลเสีย : เมื่อเหยียบคลัตช์จนสุดขณะที่รถยังไม่หยุด ก็เท่ากับเป็นเกียร์ว่าง ไม่มีแรงเครื่องยนต์ช่วยหน่วงการเบรก ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีผลเสียร้ายแรงอะไร หากเบรกโดยไม่มีการหน่วงจากเครื่องยนต์ เพราะระบบเบรกของรถยนต์ในปัจจุบันดีเพียงพออยู่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องเหยียบเบรกพร้อมคลัตช์ ประเด็นสำคัญกลับกลายเป็นเรื่องของสมาธิที่ควรจะจดจ่อกับการเบรก แล้วต้องแบ่งไปที่การเหยียบคลัตช์โดยไม่จำเป็น

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : เบรกเมื่อต้องการเบรก ก็ควรจดจ่อกับการเบรกและควบคุมรถ ไม่ต้องเหยียบคลัตช์ไม่ต้องยุ่งกับเกียร์ให้เหยียบคลัตช์เมื่อรถใกล้หยุด เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ดับ หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงเพื่อเร่งต่อหลังเลิกเบรก

4. ลดเกียร์ต่ำช่วยเบรก 

    หรือเรียกกันว่า เชนจ์เกียร์-เชนจ์เกียร์ต่ำ สอนและทำตามกันมาจนกลายเป็นเรื่องถูกต้อง หรือจำเป็นต้องทำไปแล้ว เหยียบเบรกพร้อมกับเหยียบคลัตช์ เปลี่ยนเกียร์ต่ำลงแล้วถอนคลัตช์

    ผลเสีย : เมื่อรอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นสูงหลังลดเกียร์และถอนคลัตช์ เครื่องยนต์และเกียร์จะสึกหรอมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และเสียทั้งสมาธิกับแรงในการเปลี่ยนเกียร์ แทนที่จะไปสนใจกับการเบรกและควบคุมรถ

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ไม่ใช่ว่าการลดเกียร์ต่ำจะไม่ช่วยการเบรกเลย เพราะจริงๆ แล้วช่วยแต่ช่วยน้อยมากบนทางราบ หากไม่เชื่อก็สามารถทดลองได้โดยการลดเกียร์ต่ำโดยไม่เบรก กับกระแทกเบรกแรงๆ อัตราการลดความเร็วจะต่างกันมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำในขณะที่เบรกเอาอยู่
    เบรกเมื่อต้องการเบรก ก็ควรจดจ่อกับการเบรกและควบคุมรถ ไม่ต้องยุ่งกับถ้าจะเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงเพื่อเร่งต่อ ก็ต้องถอนคลัตช์หลังเลิกเบรกแล้ว
    การลดเกียร์ต่ำช่วยเบรกหรือควบคุมความเร็ว จะได้ผลบนทางลาดลงและได้ผลเสริม การเบรกเล็กน้อยเมื่อเบรกเอาไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเบรกกะทันหันอย่างหนักหน่วง ในความเป็นจริงแค่เบรกและคุมพวงมาลัยก็ยุ่งอยู่แล้ว จะลดเกียร์ต่ำโดยไม่เสียสมาธิเสียแรงได้อย่างไร ดังนั้นการเบรกก็ควรใช้เบรกตามหน้าที่ให้เต็มที่ก่อนจะไปวุ่นวายทำอย่างอื่น

5. กลัวหยุดที่ทางขึ้นของสะพานหรือทางชัน 

    ในกรณีของรถเกียร์ธรรมดาที่ต้องหยุดชั่วคราวในลักษณะนั้น และในเมืองใหญ่ที่การจราจรคับคั่ง รถคันที่จอดต่ออยู่ก็มักจะชิดเข้ามามาก บางคนเหยียบเบรกไว้ เมื่อจะไปต่อ ก็ถอนเบรกแล้วรีบกดคันเร่งพร้อมกับถอนคลัตช์

    ผลเสีย : รถอาจกระตุกอย่างแรง ไปชนรถคันข้างหน้า หรือเครื่องยนต์ดับไหลถอยหลังลงไป

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้เบรกมือช่วยดึงเบรกมือไว้ขณะจอด ถ้าจะให้ดีควรเหยียบเบรกควบคู่กันด้วย การออกตัว ให้เหยียบคลัตช์เข้าเกียร์ จับเบรกมือไว้ ค่อยๆ ถอนคลัตช์และเริ่มกดคันเร่ง พอรถเริ่มกระตุก เบาๆ นั่นแสดงว่าคลัตช์เริ่มจับตัว ก็ให้กดคันเร่งเพิ่มเล็กน้อย ปลดเบรกมือพร้อมถอนคลัตช์ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ไม่ใช้เบรกมือ คือเหยียบเบรกไว้ การออกตัวให้เหยียบคลัตช์ เข้าเกียร์ ค่อยๆถอนคลัตช์ พอพอรถเริ่มกระ ตุกเบาๆ แสดงว่าคลัตช์เริ่มจับตัว ก็ให้ละเท้าจากเบรกรีบมากดคันเร่ง พร้อมกับถอนคลัตช์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือค่อยๆ ถอนครัชในขณะที่เท้ายังเหยียบเบรกไว้ ไม่ปล่อยเบรกจนสุด

6. ไม่กล้ากดคันเร่งมิด เมื่อจะเน้นอัตราเร่ง 

    กลัวกินน้ำมัน กลัวเบรกไม่อยู่ กลัวเครื่องยนต์สึกหรอ สารพัดจะกลัว 

    ผลเสีย : อาจเกะกะผู้ร่วมถนนอื่นในขณะนั้น หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพราะไม่เร่งหนี

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ในบางสถานการณ์ในการขับรถ การเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ อาจไม่ใช่การเบรก แต่กลับเป็นการเร่งส่ง การกดคันเร่งจมมิด ไม่มีอะไรเสียหาย การสึกหรอก็เพิ่มจากปกติน้อยมาก ขับรถให้รื่นรมย์ ถ้าอยากได้อัตราเร่งดีๆ ก็ไม่ต้องลังเลที่จะกดคันเร่งหนักๆ

7. เปลี่ยนเลนได้ เข้าทางได้ ไม่เร่งส่ง 

    ขับเอื่อยๆ เพราะถือว่าเข้าสู่เลนที่ต้องการได้แล้ว 

    ผลเสีย : ถ้ารถคันข้างหลังอยู่ใกล้หรือมาเร็ว ก็ถือว่าเสียมารยาทและอาจถูกชนท้ายได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : เมื่อเข้าสู่เลนที่ต้องการได้แล้ว หากทางข้างหน้าว่าง และมีรถตามมา ให้กดคันเร่งเพื่อหนีไปด้านหน้า เพิ่มระยะห่างด้านหลัง

8.  จอดไม่ชิดริมทาง 

    การจอดรถในพื้นที่สั้นๆ ยาวกว่าตัวรถไม่มาก หลายคนจอดห่างริมทางหรือของทางเท้า 

    ผลเสีย : ถ้าห่างมากตำรวจเขียนใบสั่งได้ เกะกะและถูกเฉี่ยวชนจากรถคันอื่น

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ถ้าขณะเข้าจอดเส้นทางโล่งพอสมควร การถอยจอดจะชิดริมได้ง่ายกว่า และต้องการพื้นที่โดยรวมสั้นกว่า การปักหัวรถเข้าไปสู่ช่องว่างจะต้องการพื้นที่ยาวมากกว่า ดังนั้นควรหัดถอยจอดตีวงให้คล่องไม่ต้องยึกยักหลายครั้ง

9.กลัวชนวงนอก ไม่กลัวเฉี่ยววงใน

    ทั้งการขับออกจากซอย แล้วล้อหลังในปีนริมทางเท้า และการเลี้ยวเข้าที่แคบๆ 

    ผลเสีย : อาจมีการเฉี่ยวชนให้ต้องซ่อมสี หรือมีอะไรเสียหาย

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ตีวงออกสู่ด้านนอกโค้งเผื่อให้ด้านในโค้งห่างสักหน่อย หากไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วปลายกันชนด้านนอกโค้งจะเลยไปถึงตรงไหน ให้ทดลองตีโค้งเข้าหาเสาแต่ไม่ให้ชน แล้วลงไปดูเพื่อจำไว้ว่ามองจากในห้องโดยสารแล้วใกล้แค่ไหนถึงจะชิดเสาที่สุด

10.ไม่ค่อยดูกระจกมองข้างหรือกระจกมองหลัง

    เพราะจดจ่อกับการควบคุมรถให้ไปตาม ตามเส้นทางข้างหน้า

    ผลเสีย : อาจเสียมารยาทโดยไม่รู้ตัว ทั้งเกะกะผู้อื่น เปลี่ยนเลนกระชั้นชิด หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

    วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง :ไม่ยาก ก็มองกระจกมองข้างหรือกระจกมองหลังให้ถี่ขึ้น เพราะรถคันที่ตามมาอาจขับเร็ว มองแต่ละครั้งห่างกัน 3 วินาที อาจจะเข้ามาชิดแล้วก็ได้ ถ้าความเร็วต่าง กัน 50 กม./ชม. ทุก 1 วินาทีรถคันตามจะชิดเข้ามา 14 เมตร หรือประมาณ 4-5 ช่วงคันรถ

    มือใหม่หรือมือเก่า หากอยากเรียนรู้อยากปรับปรุงวิธีขับรถที่ไม่ถูกต้อง นับเป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ ไม่ว่าจะเคยขับรถมา 2 วัน หรือ 30 ปี 



สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ

ปภ. แนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ (ปภ.)


          กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธีในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ทั้งการจอดรถในช่องจอดรถ จอดรถบนช่องทางเดินรถ จอดรถบนทางลาดชัน เพื่อไม่ให้กีดขวางช่องทางจราจร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การจอดรถไม่ถูกวิธีและในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะเทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ดังนี้
          กรณีจอดรถในช่องจอดรถ ควรจอดรถให้อยู่ภายในช่องที่กำหนดไว้  โดยจอดขนานกับเส้นที่กำหนด และกะระยะห่างจากเส้นให้เหมาะสม  เพื่อให้รถอยู่กึ่งกลางของช่องจอดรถ ไม่จอดรถชิดไปด้านใดด้านหนึ่ง  ชิดด้านท้าย หรือล้ำไปด้านหน้ามากเกินไป พร้อมพับกระจกข้าง จะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้รถคันอื่นสามารถขับผ่านหรือเข้าจอดได้สะดวก

          หากจอดรถกีดขวางช่องทางรถคันอื่น ให้ปลดเกียร์ว่าง หรือเลื่อนคันเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง N ไม่ดึงเบรกมือ เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้ แต่หากจอดรถในช่องทางปกติ ควรเลื่อนคันเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง P เพื่อป้องกันรถเลื่อนไปชนรถคันอื่น รวมถึงไม่จอดรถบริเวณหัวมุม ทางโค้ง หรือทางแคบ เพราะมีพื้นที่จำกัด อีกทั้งยังกีดขวางช่องทางจราจร ทำให้ รถคันอื่นขับผ่านไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้

          กรณีจอดรถบนช่องทางเดินรถ ควรจอดรถบริเวณด้านซ้ายของทางเดินรถ โดยให้ด้านซ้ายของรถชิดและขนานกับขอบหรือไหล่ทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร ในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางจราจร ไม่จอดรถในบริเวณที่ห้ามจอด เช่น บนทางเท้า บนสะพาน ในอุโมงค์ บริเวณทางร่วมทางแยก เป็นต้น เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย

          กรณีรถจอดเสียบนทางเดินรถ ควรให้สัญญาณการจอดรถโดยเปิดไฟฉุกเฉิน นำกรวย  ป้ายสะท้อนแสง กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นมาวางให้ห่างจากรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดเสีย จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน โดยจอดให้ชิดริมไหล่ทางในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางการจราจร จากนั้นให้พยายามนำรถออกให้พ้นช่องทางเดินรถโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
          กรณีจอดรถบนทางลาดชัน ควรจอดรถให้ชิดขอบทาง ฟุตบาท หรือกำแพงให้มากที่สุด โดยหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางขอบทาง หากรถเคลื่อนที่จะได้ไม่ไหลไปกีดขวางช่องทางจราจร กรณีเป็นทางลาดชันที่ไม่มีขอบทาง ฟุตบาท หรือกำแพง ควรหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางด้านตรงข้ามกับถนน หากรถเคลื่อนที่จะได้ไม่ไหลไปกีดขวางช่องทางจราจร ที่สำคัญ หลังจากดับเครื่องยนต์และให้ดึงเบรกมือขึ้นจนสุด เลื่อนเกียร์ไปยังตำแหน่งถอยหลังสำหรับรถเกียร์ธรรมดา และตำแหน่ง P สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนตัว รวมถึงนำก้อนหิน ขอนไม้ หรือวัสดุที่แข็งแรงมารองหลังล้อรถ จะช่วยให้จอดรถได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การจอดรถบนทางลาดชัน ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะก่อนออกรถ เพราะล้อยังอยู่ในตำแหน่งเลี้ยวและมีวัตถุรองหลังล้อรถ ควรหมุนพวงมาลัยกลับคืนตำแหน่งให้ล้อตรงและนำวัตถุรองหลังล้อรถออกก่อน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ การเรียนรู้เทคนิคการจอดรถจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559

4 เรื่องควรรู้ ของมือใหม่ หัดขับ

         ทุกวันนี้รถยนต์ที่เยอะขึ้นก็ทำให้การจราจรบนถนนวุ่นวายมากขึ้น ด้วยส่วนหนึ่งคือการมีมือใหม่ที่เยอะมากขึ้นบนถนน ทำให้ คนที่ใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ล้วนแต่เต็มไปด้วยคนที่ไม่ค่อยรู้ หรือขับเป็นแต่ไม่เข้าใจ เพราะจะว่าไปโรงเรียนสอนขับรถที่เกลื่อนเมือง ก็เอาแค่ได้ใบขับขี่แล้วจบกัน ทั้งที่ความจริงการขับรถต้องมีอะไรมากกว่าแค่บัตร 1 ใบที่บอกว่าอนุญาตให้ขับรถได้

                เรื่องที่รู้อยู่แล้ว อย่างกฎจราจรต่างๆ คงไม่จำเป็นที่จำต้องเล่าเป่าความกันให้มากมาย แต่วันนี้ถ้าคุณเพิ่งขับรถลองดูสิว่า เรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คุณขับรถปลอดภัยขึ้นหรือไม่ในการขับขี่ปัจจุบัน



        1.ไฟเลี้ยว  อาจจะไม่มีใครบอกว่าไฟเลี้ยวสำคัญมากแค่ไหน  แต่ความจริงแล้วไฟเลี้ยวถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากและมันช่วยอำนวยความปลอดภัยในการบอกทิศทางที่จะไป และจะช่วยให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้นด้วย ตามหลักแล้วควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงทางเลี้ยว และก่อนทำการเปลี่ยนเส้นทาง (การแซง) อย่างน้อย 50-100 เมตร

          2.ไฟฉุกเฉิน ที่มาของไฟฉุกเฉินคือการที่เราส่งสัญญาณแสดงไฟเลี้ยวทั้งสองข้างพร้อมกันและคำว่าฉุกเฉินก็ย่อมหมายถึงว่ามีเรื่องที่ทำให้รถไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ หรือเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น หลายคนอาจจะเคยถูกสั่งสอนมาว่าให้เปิดไฟฉุกเฉินยามฝนตกด้วย หรือกระทั่งยามข้ามแยกไม่มีสัญญาณไฟ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นแนวคิดที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้ขับขี่เกิดความสับสนและอาจจะนำไปสู่อุบัติเหตุได้ในที่สุด



           3.เบรก..ใช้เมื่อหยุดเท่านั้น   ทุกวันนี้พฤติกรรมแปลกๆบนถนนมีมากมาย และเรื่องหนึ่งที่ดูจะไม่พูดถึงไม่ได้คือการใช้เบรกอย่างไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นเร่องที่ยากที่จะบรรยายเกี่ยวกับการใช้เบรก แต่โดยปกติแล้วเบรกจะถูกใช้ 2 กรณี คือชะลอความเร็วและหยุดรถ แต่ด้วยความเข้าใจในเรื่องการชะลอความเร็วนี่เอง ทำให้มือใหม่หลายคนขับรถ โดยแตะเบรกแทบตลอดเวลาทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้ขับขี่คนอื่น เนื่องจากเวลาเบรกไฟเบรกทางด้านหลังก็จะติดด้วย เช่นเดียวกับการการทำให้เกิดการสึกหรอมากกว่าที่ควรจะเป็นเพียงเพราต้องการรักษาความเร็ว

                ทางแก้ของปัญหานี้คือต้องหัดในการควบคุมคันเร่ง ซึ่งโรงเรียนสอนขับรถส่วนใหญ่ไม่ได้สอนเรื่องนี้มาด้วย แต่หากวันนี้ใครเป็นคนที่ขับรถแล้วติดต้องใช้เบรก ลองเริ่มต้นด้วยการผ่อนคันเร่งก่อน แล้วกลับค่อยๆ เหยียบไปให้น้ำหนักตามความเร็วที่ต้องการดู น่าจะดีกว่า แม้อาจจะไม่ชินในช่วงแรกแต่ท้ายที่สุดเมื่อเข้าใจในการทำงานก็จะรู้ว่าเบรกไม่ใช่ทุกสิ่งที่สามารถชะลอความเร็วได้


  
            4.แตรใช้ได้.. เราส่วนใหญ่ไม่ค่อยบีบแตร กันก็ไม่เข้าใจว่าด้วยเหตุอันใด แต่ความจริงของการใช้รถใน ภาคสากล แตรคือสัญญาณเตือน ไม่ใช่การยกไฟสูงใส่ ซึ่งด้วยนิสัยคนไทยขี้เกรงใจ จึงมักถูกสอนว่า ไม่ให้ใช้แตร ทั้งที่จริงมีเพียงไม่กี่ที่ ที่ห้ามใช้ได้แก่ สถานศึกษา วัด และโรงพยาบาล ส่วนที่อื่นไม่ได้ห้ามอย่างชัดเจน  ดังนั้นหากพบปัญหาที่อาจจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุสิ่งที่ควรทำคือการบีบแตร เพื่อเตือนเพื่อนร่วมทาง 

            ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจจะเรียกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับขี่อย่างปลอดภัยบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา กับมือใหม่หัดขับอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินกันแต่ด้วยประสบการณ์ในการขับขี่มันก็จะสอนให้รู้ว่าการขับรถที่ถูกต้องเป็นเช่นไร 


สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เมื่อเรียนจบ ไม่กล้าขับคนเดียว ทำอย่างไร

วันนี้ครูเก็บสิ่งเล็กๆ น้อย มาฝาก เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ

ให้กับหลายๆ คน ที่ได้ใบขับขี่แล้วไม่กล้าขับรถไปไหนมาไหนคนเดียว 


สาเหตุ ที่ทำให้นักเรียนไม่กล้า 

1. บางคนฝังใจกับอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น

2. ไม่มีมีความมั่นใจในตัวเอง

3. มีความตกใจและขี้กลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

วิธีแก้ไข

1. หากความไม่กล้านั้นเกิดจากการฝังใจเรื่องอุบัติเหตุที่เคยขึ้นให้นักเรียนคิดมองในแง่ดีเสมอว่า
    สิ่งที่เคยเกิดขึ้นนั้น จะไม่เกิดขึ้นกับนักเรียนอีก เนื่องจากได้ฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้ว

2. นักเรียนต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง พยายามฝึกซ้อมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มจากขับ
    ขับไปใกล้ๆ ก่อน และใช้ความระมัดระวัง และใช้ความเร็วไม่มากนัก เพราะการฝึกฝนจะเพิ่มความ  
    ชำนาญให้กับนักเรียน แนะนำให้ทำการฝึกคนเดียว เพราะหลายๆ ท่านที่มีเพื่อนนั่งไปด้วยติติงบ่อยๆ
    ทำให้เราไม่มั่นในการตัดสินใจ

3. ให้คิดเสมอว่านักเรียนในเรียนหลักการที่ถูกต้องในการใช้รถใช้ถนนมาแล้ว แต่ชั่วโมงเรียนของ
    แต่คนต่างกันไป ซึ่งแน่นอน ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ออกมา ขึ้่นอยู่กับการฝึกฝนของนักเรียนแต่ละคน
    ระหว่างเรียนครูจะแนะนำอยู่แล้วว่า นักเรียนมีความสามารถในการขับได้มากน้อยขนาดไหน ก่อนที่
    ครูจะแนะนำให้ขับเพียงลำพัง ซึ่งหากครูประเมินแล้วว่า นักเรียนขับได้ นักเรียนก็ควรจะมั่นใจในตัวเอง
    ในระดังหนึ่งแล้ว


ประเด็นสำคัญเลยคือ นักเรียนต้องฝึกฝน และทบทวนที่ครูสอนเสมอ เพราะระยะเวลาที่เรียนนั้น ครูได้พานักเรียนออกถนนจริงแล้ว และได้บอกเทคนิคการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ในแต่ละสถานการณ์ที่นักเรียนเจอตลอดระยะเวลาการเรียน ในเมื่อนักเรียนขับได้ในขณะที่มีครูนั่งไปด้วย นักเรียนก็จะสามารถขับรถได้ตามลำพังได้เช่นเดียวกัน

สำคัญอยู่ที่หัวใจของนักเรียนด้วยค่ะ ไม่ลองไม่รู้ ไม่ลงมือฝึกฝนก็ไม่สำเร็จค่ะ

สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/

http://www.prachuabdrivingschool.com/

 


วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การขับรถเบื้องต้นเพื่อการขับรถอย่างปลอดภัย



ขับรถแบบปลอดภัย (ยานยนต์)

          รถสมัยนี้อุดมไปด้วยระบบความปลอดภัยมากมาย ทางบริษัทรถต่างสรรหาเข้ามาใส่ไว้ในรถ เพื่อเป็นการช่วยในการขับขี่ พวกรถหรูหราราคาแพงจะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ จนกระทั่งคนขับแทบจะเหลือหน้าที่เพียงแค่จับพวงมาลัยเท่านั้นเอง นอกนั้นตัวรถจะเป็นผู้จัดการให้หมด แม้กระทั่งการเบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือหยุดรถก็ตาม หากคนขับไม่เบรก รถก็จะเบรกให้เอง

          อย่างไรก็ตามถึงรถจะแสนรู้แค่ไหน การบังคับควบคุมหลักก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนขับพวกระบบความปลอดภัยและระบบอิเล็คทรอนิคส์ในการควบคุมต่าง ๆ เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น คนขับยังต้องเรียนรู้วิธีการขับรถ เพื่อสร้างความปลอดภัยอยู่ดี

          ถึงแม้พวกเราจะไม่ใช่นักขับรถมืออาชีพ ไม่ได้ขับรถเพื่อแข่งความเร็วกับใคร เพียงแค่ใช้รถในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง แต่ก็ควรศึกษาและเรียนรู้เทคนิคในการขับรถเอาไว้บ้าง เพราะมันหมายถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เท่าที่เจอะเจอมาก็มีอยู่เยอะเหมือนกันที่มักคิดว่าตัวเองเป็นนักแข่ง ชอบขับรถด้วยความเร็วสูง เชื่อในฝีมือความสามารถ และความชำนาญของตัวเอง กว่าจะรู้ความจริงว่าอยู่ระดับไหนก็ตอนที่เป็นเรื่องไปซะแล้ว...

          การขับรถที่ดีไม่ได้หมายความว่าต้องขับรถช้าเป็นเต่าคลานกันเสมอไป ตรงกันข้ามการขับรถช้าเกินควรในบางครั้งกลับเป็นตัวก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้กับชาวบ้านด้วยซ้ำไป เพราะรถที่ขับตามเค้าต้องคอยเบรกและหาจังหวะเปลี่ยนช่องทางเพื่อนแซงรถช้า นอกจากนี้ยังเป็นตัวสร้างอุบัติเหตุให้กับชาวบ้าน เพราะรถที่ขับตามต้องเปลี่ยนเลนไปตัดทางพวกรถที่มาเร็ว อันที่จริงแล้วควรขับตามความเหมาะสมกับสภาพเส้นทางและสภาพการจราจร เขาไปช้าเราก็ต้องคลานตามไป และเมื่อเพื่อนร่วมถนนไปเร็วเราก็ควรเร็วตามเขาด้วยเหมือนกัน การจราจรจะได้ไม่เกิดการติดขัด

          สำหรับการขับรถเพื่อการเดินทาง แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงหน่อย และในกรณีที่ขับรถด้วยความเร็ว (ค่อนข้าง) สูงนั้น มีความจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่อย่างแรกที่อยากให้นึกถึงกัน ถ้าเรียกให้หรูหน่อยก็เป็นเรื่องของ “ค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน” แต่หากพูดจาประสาชาวบ้านก็คือ การเกาะถนนนั่นเอง ซึ่งรถจะเกาะถนนหรือไม่นั้นมีปัจจัยอยู่หลายอย่าง เช่น ความเร็ว การเปลี่ยนทิศทางหรือแรงหนีศูนย์ ยางช่วงล่าง น้ำหนักรถ และอื่น ๆ อีกมาก สำหรับตอนนี้สิ่งที่อยากให้พยายามเรียนรู้เอาไว้ คือ “การอ่านสภาพของถนนให้ออก” ต้องเข้าใจสภาพของพื้นผิวถนนว่าเป็นอย่างไร บนถนนบ้านเรามักมีสิ่งเหนือความคาดหมายได้เสมอ ทั้งน้ำมันที่หกเลอะเทอะ เศษใบไม้ที่ถูกรถทับบดไปบดมา หากเจอน้ำหรือฝนก็จะกลายเป็นเมือกลื่นได้ และที่เจอบ่อยมากคือ พวกเศษทรายเศษดินบนถนน ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยมีพิษสงมากมากอะไร แต่พอเจอน้ำฝนเข้าไปคราวนี้จะออกลายมาเลย

          หากขับรถแล้วไปเจอกับเจ้าพวกนี้เข้าให้ รถเกิดการลื่นไถลแถออกไปนอกทางหรือหลุดโค้งออกไป ไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้ วิธีแก้ไขที่ควรกระทำ คือ ผ่อนคันเร่งและไม่ต้องคอยประคองรถ


วิธีผ่อนคันเร่ง คือการถอนคันเร่งช้า ๆ อย่าถอนคันเร่งแบบทันทีทันใด เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ล้อเสียการควบคุม ซึ่งอาจจะทำให้ท้ายรถปัดออกไปทางนอกโค้ง แบบที่เค้าเรียกกันว่า “โอเวอร์สเตียร์” ส่วนการ ไม่ต้องประคองรถหรือเลี้ยงพวงมาลัย นั้น ให้กระทำเพียงแค่จ้องบนเส้นทางปลอดภัยที่เราจะไปเท่านั้นเอง อย่างพื้นถนนส่วนในของโค้ง ไม่ใช่จ้องมองหลักหรือขอบถนนข้างทาง แล้วสายตาจะแจ้งให้สมองรับรู้ ต่อจากนั้นสมองก็จะบังคับมือให้หันพวงมาลัยไปตามทิศทางที่ถูกต้อง (ตามที่เรามองเอาไว้) เอง

          ในการอ่านสภาพถนนนั้นยังหมายถึงการดูสภาพของไหล่ถนนและข้างทางอีกด้วย ไม่ได้ดูกันเฉพาะพื้นผิวถนนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราอาจเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะยามเย็นใกล้ค่ำเหล่าบรรดารถอีแต๋นทั้งหลาย อาจจะโผล่พรวดออกมาจากข้างทางโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าเลย หรือยามปกติก็มีทั้งสุนัข กับรถมอเตอร์ไซค์ที่มักคิดว่าการถูกรถชนนั้นไม่เจ็บ จึงชอบข้ามถนนโดยไม่สนใจกับรถทางตรง ซึ่งมาได้ทั้งข้างทางด้านซ้าย และจากทางด้านขวา หากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องหักหลบ ก็ให้หลบเข้าข้างทางไป หรือหากระดับพื้นข้างทางไม่ต่างกับระดับพื้นถนนก็หลบเข้าไปเลย เพียงแต่ข้อสำคัญอย่าตกใจกระชากพวงมาลัยหลบอย่างรวดเร็วแบบกะทันหัน แต่ให้กระทำอย่างนุ่มนวลรับรองว่ารถจะหลบได้เร็ว (และปลอดภัย) กว่าการกระชากพวงมาลัยซะอีก

          วิธีขับรถยามเดินทางด้วยความเร็ว โดยทั่วไปมักจะให้เป็นสูตรสำเร็จ สำหรับการเว้นระยะห่างรถข้างหน้า 1 ช่วงคันรถต่อความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10 กม./ชม. แต่รถที่ใช้กันอยู่นั้นมีประสิทธิภาพในการยืดเกาะถนนต่างกันสมรรถนะของระบบเบรกก็ไม่เท่ากัน แม้กระทั่งยางที่ใช้ก็ไม่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงคนขับก็มีความสามารถในการขับรถไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องถามตัวเราเองว่า ด้วยความเร็วเท่านี้ สภาพการจราจรและเส้นทางแบบนี้ จากประสิทธิภาพของเบรกกับความพร้อมและประสบการณ์ในการขับรถ หากรถคันหน้ามีอะไรเกิดขึ้นทำให้ต้องเบรกอย่างกะทันหัน เราจะสามารถหยุดรถได้ทันการณ์หรือเปล่า หากตัวเองตอบว่าไม่ทัน ก็ควรเพิ่มระยะห่างจากรถคันหน้าอีกหน่อย

          จากความเร็วที่เราขับ 100 กม./ชม. หมายความว่า ในเวลา 1 วินาทีรถจะเคลื่อนที่ไปเป็นระยะทาง 27.8 เมตร ดังนั้นในกรณีมีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องเบรกก็ควรจะเหยียบเบรกให้เร็วและว่ากันอย่างแรงเต็มที่ ถึงแม้รถสมัยนี้จะมีระบบ BA มาช่วยเพิ่มแรงเบรกแล้วก็ตาม เอาชัวร์ไว้ก่อนโดยออกแรงให้มันเยอะเข้าไว้ และไม่ต้องเกรงว่าตัวรถจะเสียหลักต้องคอยประคองพวงมาลัยรักษาเส้นทาง เพรารถสมัยนี้จะมีระบบเบรก ABS มาช่วยงาน ป้องกันไม่ให้ล้อล็อค ดังนั้น ABS จึงช่วยให้สามารถบังคับรถได้อย่างไม่มีปัญหา แถมระหว่างเหยีบบเบรกยังขับหลบสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามพึงระลึกเอาไว้ว่ารถที่มีระบบเบรก ABS นั้นบนถนนแห้ง การเบรกจะใช้ระยะทางมากกว่าเบรกธรรมดาที่ไร้ ABS เป็นผู้ช่วย ด้วยเหตุนี้จึงควรเหยียบเบรกให้แรงมากกว่าปกติ

          พวกรถที่ไม่มีผู้ช่วยทั้ง BA หรือ ABS ก็ตาม ในการใช้เบรกก็ต้องว่ากันอย่างเต็มที่เช่นกัน เพียงแต่ต้องคอยระวังยามล้อเกิดการล็อคทำให้รถลื่นไถลไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้ แบบนี้ให้ถอนเท้าจากเบรกเล็กน้อยจนพบว่าตัวรถพุ่งไปทางทิศที่เราหักพวงมาลัยรอเอาไว้ เป็นการแสดงว่าล้อเลิกล็อกและทำให้ยางเริ่มจับถนนอีกครั้งคราวนี้เราสามารถหักพวงมาลัยหลบได้แล้ว


การขับขี่บนทางลื่น ต้องมีความรู้และความระมัดระวังกันเป็นพิเศษ ถึงพวกรถรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบสารพัดอย่างพวก DSC (Dynamic Stability Control) มาช่วย โดยการลดความแรงของเครื่องยนต์ลง หรือจัดการให้มีการเบรกในทันที ซึ่งล้อรถจะไม่มีการหมุนแบบเสียศูนย์ ตัวรถยังคงอยู่บนถนนตามปกติ แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพการทำงานจำกัดอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากเล่นกันแรงหรือขับเร็วเกินไปมันก็ช่วยไม่ไหวเหมือนกัน

          สิ่งสำคัญยามเจอเส้นทางอื่นอยู่ที่แรงบิดของล้อ ถ้ามีมากเกินไปหน้ายางก็ไม่สามารถยืดเกาะกับเส้นทาง และเมื่อนั้นก็จะเกิดการลื่นไถลเสียการทรงตัว ไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถ การขับขี่บนทางลื่น ยามฝนตกบนถนนมีน้ำเจิ่งนอง เส้นทางที่มีโคลนเลนอยู่บนพื้นผิว หรือแม้แต่เส้นทางที่มีฝุ่นหรือทรายปกคลุม จำเป็นต้องใช้เกียร์สูงกว่าปกติ อย่างเช่น ออกตัวด้วยเกียร์ 2 แทนที่จะเป็นเกียร์ 1 ตามปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ล้อมีแรงบิดน้อยลดการลื่นไถล

          การขับให้ใช้ความเร็วต่ำแต่ใช้เกียร์สูง ชนิดขับกันแค่ 40-50 กม./ชม. ก็พยายามใช้เกียร์สูงสุดขับเคลื่อน หากเครื่องยังไปไหวไม่มีอาการสั่นเครื่องไม่น็อก หรือพวกรถเกียร์อัตโนมัติบางรุ่นจะมีโปรแกรมขับทางลื่นโดยเฉพาะ อย่าง Hold Mode หรือโปรแกรม Winter ตลอดจนเกียร์อัตโนมัติของรถรุ่นใหม่ที่สามารถเลือกเกียร์ขับได้แบบรถเกียร์ธรรมดา นอกเหนือจากนี้ก็ควรถอนเท้าออกจากคันเร่งบ้าง พยายามใช้รอบเครื่องที่ไม่สูงจนเกินไปช้าหน่อยดีกว่าไปไม่ถึง

          ในการขับรถเข้าโค้งบนถนนลื่นมาก ๆ นอกจากต้องระวังเรื่องความเร็วของรถ กับความแรงของเครื่องยนต์แล้ว ก็ต้องนึกถึงวงเลี้ยงด้วย หากเข้าโค้งด้วยการหมุนพวงมาลัยน้อยเกินไป ซึ่งจะเห็นได้จากล้อรถเกยขอบทางหรืออกไปทางไหล่ถนนสำหรับการรถเลี้ยวขวา หรือหากเป็นการเลี้ยงซ้ายล้อรถก็จะผ่านเส้นกลางกินไปทางเลนของรถที่สวนมา หากเจอลักษณะแบบนี้เข้าควรใช้วิธีแตะเบรก และพยายามควบคุมทิศทางของรถให้แล่นอยู่ในเส้นทางเข้าไว้

 บางครั้งอาจจะหักพวงมาลัยเพื่อเข้าโค้งมากเกินไป คราวนี้จะพบว่าท้ายรถเริ่มส่ายและหนีโค้งในลักษณะอาการโอเวอร์สเตียร์ หากเป็นรถเกียร์ธรรมดาให้รีบปล่อยคลัทช์ทันที พร้อมกับหมุนพวงมาลัยกลับทางมาอีก ด้านสวนทางกับโค้งให้ไปทางเดียวกับท้ายรถอย่างเช่นโค้งซ้ายท้ายรถจะเหวี่ยงออกไปทางขวา เราก็หันพวงมาลัยไปทางขวา การหมุนพวงมาลัยสวนทางแบบนี้ จะก่อให้เกิดแรงต้านต่อความโน้มเอียงของตัวรถและโค้ง การบังคับล้อหน้าให้กลับเข้าสู่ทิศทางของการเคลื่อนที่อย่างถูกต้อง และหากสามารถกระทำภายในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยปกป้องรถจากการส่ายและปัดได้ นอกจากนี้หากตราบใดก็ตามที่เราหักพวงมาลัยให้ล้อหน้าหันไปทางเดียวกันกับท้ายรถ หมายความว่าท้ายรถจะไม่เร็วและไม่สามารถแซงด้านหน้าขึ้น ตราบนั้นรถก็จะไม่เกิดการหมุน

          หลักสำคัญในการขับขี่รถ คือ ความราบเรียบและนุ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นการพักเลี้ยว การเบรก การถอนเบรก การเร่งและการถอนคันเร่ง การกระทำใด ๆ ก็ตาม หากดำเนินการอย่างกะทันหัน ฉับพลัน ก็จะมีผลต่อการทรงตัวของรถ อย่างเช่น เรากดเบรกหนัก ๆ ก่อนถึงโค้ง น้ำหนักรถก็จะเหมาที่ล้อหน้า พอหักเลี้ยวก็ถอนเท้าออกจากเบรกอย่างเร็ว แล้วรีบมากดคันเร่งพุ่งตัวออกจากโค้ง น้ำหนักก็จะถ่ายกลับไปยังล้อหลังอย่างทันควัน แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการยืดเกาะถนนของล้อต้องมีปัญหาแน่ อย่างไรก็ตามในบางจังหวะเราก็อาจต้องทำอะไรที่มันเร็ว ๆ และรุนแรง อย่างการเบรกแบบกะทันหัน หรือหักเลี้ยวหลบอย่างฉับพลัน ดังนั้นจึงพึงระลึกไว้ด้วยว่ามันมีผลกับการทรงตัวของรถ จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย
สนใจเรียนขับรถยนต์

กับครูผู้มีประสบการณ์การสอน ครูใจเย็น ครูใจดี ครูผู้หญิง หรือท่านมีปัญหาเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาติขับขี่ หัดขับกันเองไม่เป็น กลัวเกิดอุบัติเหตุ สอนกันไม่เข้าใจ ทะเลาะกัน มาปรึกษาเราสิคะ เขมจิรา ยินดีให้คำแนะนำทุกท่านค่ะ
โทร. 092-997-4249,063-196-4492

Line ID:  fondrivingschool
https://www.facebook.com/PrachuabDrivingSchool/
http://prachuabdrivingschool.blogspot.compot.com/


http://www.prachuabdrivingschool.com/